ติดต่อเรา

โควิดทำขยะติดเชื้อพุ่ง 65 ตันต่อวัน รพ.ต้องการถุงขยะแยกประเภทเพิ่มขึ้น


 

โควิดทำขยะติดเชื้อพุ่งกว่า 65 ตันต่อวัน รพ.ต้องการถุงขยะแยกประเภทเพิ่มขึ้น โรงพยาบาลหลายแห่งให้ความเห็นทางเดียวกันว่า การแยกขยะให้เป็นประเภทคือปัจจัยกำจัดขยะติดเชื้อได้อย่างปลอดภัย

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากปัญหาจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นต่อเนื่อง อีกปัญหาหนึ่งที่ตามมาคือ ปริมาณขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจากกรมอนามัยในปี 2563 ระบุว่า ประเทศไทยมีสถานพยาบาลทั้งรัฐ และเอกชนมากกว่า 37,000 แห่ง มีจำนวนเตียงประมาณ 140,000 เตียง สถานพยาบาลเหล่านี้มีการผลิตขยะติดเชื้อประมาณ 65 ตันต่อวัน เป็นขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลประมาณ 20 ตันต่อวัน ที่เหลือเกิดขึ้นในสถานพยาบาลในส่วนภูมิภาคอีกประมาณ 45 ตันต่อวัน และมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลให้ปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 20 ตันต่อวัน จากทั้งโรงพยาบาล และภาคครัวเรือน รวมถึงโรงพยาบาลสนาม

ทั้งนี้ บุคลากรทางการแพทย์และพนักงานในโรงพยาบาลหลายแห่ง ให้ความเห็นเป็นไปในทางเดียวกันว่า การแยกขยะให้เป็นประเภทคือปัจจัยสำคัญในการกำจัดขยะติดเชื้ออย่างปลอดภัย แต่ทั้งนี้ต้องเลือกถุงขยะที่บ่งบอกถึงขยะภายในถุงนั้นด้วย จึงทำให้ถุงขยะแยกประเภทเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นถุงขยะทั่วไป หรือถุงแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถุงขยะแดง เพราะช่วยให้ผู้ที่นำขยะไปกำจัดต่อรู้ทันทีว่าเป็นขยะอันตรายและต้องระมัดระวัง และจะได้ดำเนินงานต่อได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัย เพื่อสุขอนามัยที่ดีของผู้ขนขยะ ชุมชน และสังคม

“ทวี จุลศักดิ์ศรีสกุล” กรรมการ บริษัท คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด ผู้ผลิต ‘ถุงขยะฮีโร่’ กล่าวว่า โรงพยาบาลคือหน่วยงานที่สำคัญที่สุด เป็นที่พึ่งของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่การระบาดของโควิด-19 ขยายวงอย่างรวดเร็ว

บริษัทได้ส่งทีมงานลงพื้นที่พูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ในหลาย ๆ โรงพยาบาลพบว่า ปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมาก เช่น โรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี มีปริมาณขยะติดเชื้อสูงถึง 3.2 ตันในเวลาแค่เพียงครึ่งปี ในขณะที่ โรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีปริมาณขยะติดเชื้อสูงถึง 423 กิโลกรัมต่อวัน และ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ปริมาณขยะติดเชื้อสูงถึง 600 กิโลกรัมต่อวัน

ถุงขยะแยกประเภทเป็นที่ต้องการสูงขึ้นนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตถุงขยะต้องเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้ คิงส์แพ็คฯเล็งเห็นถึงความสำคัญของการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านถุงขยะแยกประเภท จึงจัดทำโครงการฮีโร่มาแล้ว เพื่อบริจาคถุงขยะ ถุงแดง และถุงซิป ให้แก่โรงพยาบาลในสังกัดของรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ของบริษัท

“จากการลงพื้นที่ไปมอบถุงขยะกับทั้ง 3 โรงพยาบาลพบว่า จุดร่วมเดียวกัน คือ ปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทุกฝ่ายต้องทุ่มเทการทำงานเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าตัว แต่ทุกโรงพยาบาลล้วนให้ความสำคัญกับการแยกขยะ และการกำจัดขยะติดเชื้อ เพื่อช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคออกไป”

“ครั้งนี้เรามุ่งเป้าไปที่โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ บริจาครวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านใบ ได้แก่ ถุงขยะดำ สำหรับขยะทั่วไป ถุงขยะแดงสำหรับขยะติดเชื้อ และถุงซิปอเนกประสงค์ นอกจากนั้นส่งเสริมกระตุ้นให้คนไทยได้มีความรู้เรื่องขยะ และการแยกขยะ เพราะเป็นเรื่องพื้นฐานที่จะสร้างที่สุขภาวะที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และสุขนิสัยที่ดีขึ้น”

ด้วยความสำคัญของถุงขยะที่เพิ่มขึ้น ทำให้การเติบโตของยอดขายบริษัทในปี 2563 โตขึ้น 35% เมื่อเทียบกับปี 2562 (ก่อนมีการระบาดของโควิด-19) และยอดขายของปี 2564 โตขึ้น 34% หากเทียบปี 2563

“นพ.สุเทพ จันทรเมธีกุล” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี กล่าวว่า ขยะติดเชื้อของทางโรงพยาบาลมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 โรงพยาบาลมีปริมาณขยะติดเชื้ออยู่ที่ 4.2 ตัน จากปริมาณขยะทั้งหมด 7.7 ตัน และในปี 2563 ปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 4.36 ตันต่อปี จากปริมาณขยะทั้งหมด 8.36 ตัน

“สำหรับตัวเลขล่าสุดในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ปริมาณขยะติดเชื้ออยู่ที่ 3.2 ตันต่อปี ส่งผลให้โรงพยาบาลมีความต้องการใช้ถุงขยะแดงจำนวนมาก โดยในปี 2563 โรงพยาบาลมีปริมาณการใช้ถุงขยะแดงสูงถึงกว่า 3.9 ตัน”

ถุงขยะแยกประเภทถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะโรงพยาบาลมีขยะติดเชื้อจำนวนมากในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็น หน้ากากอนามัย ถุงมือยางแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ชุด PPE หลอดยา เข็มฉีดยา และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้ออื่น ๆ ขยะติดเชื้อหากไม่ได้จัดเก็บอย่างถูกวิธีก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ดำเนินการจัดการกำจัดขยะ ซึ่งเมื่อแยกขยะติดเชื้อออกแล้ว จะนำไปกำจัดทิ้งโดยวิธีการเผาด้วยความร้อน 1,200 องศาเซลเซียส”

พญ.อนุธิดา ประทุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

ทางด้าน “พญ.อนุธิดา ประทุม” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี พื้นที่ที่มีการติดเชื้อกลุ่มใหญ่ล่าสุด กล่าวว่า สำหรับยอดผู้ป่วยโควิด-19 ที่โรงพยาบาลรับตอนนี้มีทั้งหมด 245 เตียง โดยรักษาตัวอยู่ที่ ชะอำ-อีโค่ แคมป์ รีสอร์ท ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาล

“จากจำนวนผู้ป่วยส่งผลให้มีขยะทางการแพทย์ 423 กิโลกรัมต่อวัน เพิ่มขึ้นจากก่อนช่วงมีวิกฤติโควิด-19 ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยขยะติดเชื้อทั้งหมดจะดำเนินการแยกใส่ถุงขยะแดง ส่วนถุงซิปจะนำมาจัดเก็บสิ่งส่งตรวจ เพื่อลดการสัมผัสการติดเชื้อในเจ้าหน้าที่ ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง การแยกขยะจะช่วยลดการปนเปื้อนในส่วนของขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้เป็นอย่างดี”สอดคล้องกับ “นพ. พรเทพ พงศ์ทวิกร” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ที่มองว่า การปลูกฝังให้บุคลากรทางการแพทย์และพนักงานในโรงพยาบาลสร้างวินัยการแยกขยะ เป็นการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อดีที่สุด โดยเฉพาะขยะอันตรายจากเคมีบำบัด ที่ส่งผลต่อสุขภาพและอันตรายต่อทีมแพทย์มากที่สุด ได้แก่ ถ่าน และปรอท โดยการอบรมของเราจะเข้มงวดเป็นพิเศษ พนักงานใหม่ต้องเข้าร่วมปฐมนิเทศในการคัดแยกขยะหลัก ๆ ได้แก่ขยะทั่วไป ขยะติดเชื้อ ขยะมีพิษ ขยะรีไซเคิล โดยทีมควบคุมโรค และทีมสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดำเนินการ

“ตอนนี้ รพ.บ้านแพ้ว ดูแลผู้ป่วยโควิด -19 อยู่ที่ 42 คน ช่วงโควิดปริมาณขยะทั่วไปและขยะติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมาก ขยะติดเชื้อจากเดิม 360 กิโลกรัมต่อวัน เพิ่มมาเป็น 600 กิโลกรัมต่อวัน ขยะทั่วไป 1,200 กิโลกรัมต่อวัน เพิ่มมาเป็น 1,371 กิโลกรัมต่อวัน ผลมาจากช่วงโควิด-19 เรามีการใช้อุปกรณ์ป้องกันตัว รวมถึงมีขยะติดเชื้อค่อนข้างมาก และเพื่อป้องกันการติดเชื้อทีมเจ้าหน้าที่เรา เราจึงเข้มงวดกับแม่บ้านหรือเจ้าหน้าที่ขนย้ายขยะติดเชื้อเป็นพิเศษ โดยจะต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเองทุกครั้ง ประกอบด้วย สวมหมวก สวมผ้าปิดปาก ปิดจมูก สวมเอี๊ยมพลาสติกกันเปื้อน สวมถุงมือแม่บ้านยาวครึ่งแขน สวมรองเท้าบูตครึ่งน่อง ก่อนการทำงานอย่างเคร่งครัด”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :  https://www.prachachat.net/csr-hr/news-702348