• ขยะทั่วไป

ถังขยะสาธารณะสำหรับขยะประเภทนี้จะเป็น “สีน้ำเงิน”

ขยะทั่วไปเป็นขยะจำพวกเศษกระดาษ ซองพลาสติก เปลือกลูกอม หรือของจำพวกที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ที่ไม่คุ้มค่ากับการนำไปรีไซเคิล ขยะเหล่านี้จะถูกนำไปกำจัดตามกระบวนการ เช่น การฝังกลบ การเผาด้วยเตาเผาขยะ เป็นต้น

  • ขยะเปียก

ถังขยะสาธารณะสำหรับขยะประเภทนี้จะเป็น “สีเขียว”

ขยะเปียกเป็นขยะย่อยสลายง่ายที่อยู่ในรูปแบบของเศษอาหารที่กินเหลือ วัตถุดิบที่เน่าเสียได้ง่าย ผลไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ ซากพืช ซากสัตว์ ที่เมื่อทิ้งไว้ไม่นานจะส่งกลิ่นเหม็นรบกวน ขยะเหล่านี้อาจสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้ เช่น การนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น

  • ขยะรีไซเคิล

ถังขยะสาธารณะสำหรับขยะประเภทนี้จะเป็น “สีเหลือง”

ขยะรีไซเคิลมักเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วหรือวัสดุเหลือใช้ที่สามารถนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้ เช่น แก้ว กระป๋อง ขวดน้ำ เศษพลาสติก ที่สามารถนำไปหลอมเพื่อแปรรูปสำหรับใช้ประโยชน์ได้ต่อไป ขยะประเภทนี้จะมีมูลค่าสามารถเก็บไว้ขายให้กับคนที่รับซื้อของเก่า เนื่องจากสามารถนำไปสร้างประโยชน์ต่อได้

  • ขยะอันตราย

ถังขยะสาธารณะสำหรับขยะประเภทนี้จะเป็น “สีแดง”

วิธีแยกขยะในบ้าน

          ขั้นตอนการคัดแยกขยะในบ้าน มีดังต่อไปนี้

          1. แยกขยะทั้ง 4 ประเภทออกจากกัน โดยมีรายละเอียด คือ

          - ขยะย่อยสลาย : ให้แยกระหว่างเศษอาหารกับเศษใบไม้ เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่าง โดยควรจัดเก็บในภาชนะที่สามารถปิดได้

          - ขยะรีไซเคิล : ให้แยกขยะรีไซเคิลแต่ละชนิดออกจากกัน เพื่อความสะดวกในการหยิบใช้ และความง่ายในการนำไปขาย โดยขยะรีไซเคิลมีทั้งหมด 4 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่

          • กระดาษ : ควรแยกหนังสือพิมพ์ สมุด หนังสือ กล่อง ลัง และเศษกระดาษออกจากกัน แล้วมัดแต่ละชนิดไว้ให้เรียบร้อย

          • แก้ว : กำจัดผลิตภัณฑ์ที่อยู่ข้างในออกให้หมด จากนั้นทำความสะอาดให้เอี่ยม แล้วเก็บรวมกันไว้ได้เลย

          • พลาสติก : กำจัดผลิตภัณฑ์ที่อยู่ข้างในออกให้หมด จากนั้นทำความสะอาดให้เอี่ยม แล้วทำให้แบนเพื่อเซฟพื้นที่ สุดท้ายก็เก็บโดยแยกระหว่างพลาสติกขุ่นและพลาสติกใส

          • โลหะหรืออโลหะ : กำจัดผลิตภัณฑ์ที่อยู่ข้างในออกให้หมด จากนั้นทำความสะอาดให้เอี่ยม แล้วทำให้แบนเพื่อเซฟพื้นที่ สุดท้ายก็เก็บรวมกันไว้ได้เลย

          - ขยะอันตราย : ให้แยกขยะอันตรายออกจากขยะประเภทอื่น แล้วก็แยกชนิดของขยะอันตรายอีกทีด้วย อย่าเก็บปนกันเด็ดขาด นอกจากนี้ควรใส่ไว้ในภาชนะที่แข็งแรง มิดชิด และไม่รั่วไหลด้วย

          - ขยะทั่วไป : เก็บรวมกันไว้ได้เลย

          2. นำขยะประเภทต่าง ๆ เก็บไว้ในถุงขยะหรือถังขยะที่แยกตามสีที่กำหนดอย่างเหมาะสม

          3. เก็บถุงขยะหรือถังขยะทั้งหมดไว้ในบริเวณที่สะอาด สว่าง อากาศถ่ายเท ไม่ขวางทางเดิน และไม่ใกล้แหล่งอาหาร

          4. แยกขยะอันตรายออกห่างจากขยะประเภทอื่น และควรดูแลการขนย้ายขยะประเภทนี้มากเป็นพิเศษ หรือทางที่ดีจะนำไปทิ้งในสถานที่ที่รับเก็บขยะอันตรายโดยเฉพาะก็ได้

          5. อย่าเก็บขยะที่เสี่ยงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ หรือเสี่ยงเกิดการรั่วไหลเอาไว้ใกล้ตัวเป็นเวลานาน

          6. ในกรณีที่ล้างทำความสะอาดขยะประเภทต่าง ๆ แล้วมีไขมันหรือน้ำมันปนเปื้อน ควรกรองเศษตะกอนต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ไหลลงไปอุดตันในท่อระบายน้ำสาธารณะ

          7. หลีกเลี่ยงการเผาทำลายขยะโดยไม่จำเป็น เพื่อป้องกันการส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

วิธีลดขยะในบ้าน

          เราทุกคนสามารถลดปริมาณขยะในบ้านได้ง่าย ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตให้สอดคล้องตามหลัก 5R ซึ่งประกอบไปด้วย

          R1 : Reduce

          Reduce คือ การคิดก่อนใช้หรือการลดปริมาณขยะที่กำลังจะเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การใช้กล่องข้าวแทนกล่องโฟม การใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าเช็ดโต๊ะแทนกระดาษทิชชู การกินอาหารที่ร้านแทนการห่อกลับ รวมถึงการหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ครั้งเดียว เช่น จานกระดาษ แก้วพลาสติก การหลีกเลี่ยงสารเคมีที่จะก่อให้เกิดขยะอันตราย การเลือกสินค้าที่บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การไม่รับถุงเมื่อซื้อของเพียงไม่กี่ชิ้น และการใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดเติมแทนการซื้อใหม่ด้วย

          R2 : Reuse

          Reuse คือ การนำของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำให้คุ้มค่า ตัวอย่างเช่น การนำถุงพลาสติกไปใส่ขยะ การนำขวดพลาสติกไปทำเป็นแจกัน การนำขวดแก้วเก่าไปใส่ของอยางอื่น การนำเศษผ้ามาเย็บรวมกันเป็นชิ้น การใช้กระดาษให้ครบทั้งสองหน้า การใช้ภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำได้ การใช้ถ่านที่สามารถชาร์จได้ รวมถึงการใช้ของมือสองด้วย

          R3 : Repair

          Repair คือ การซ่อมของที่พังแล้วให้กลับมาใช้ได้อีกครั้ง แทนที่จะทิ้งเป็นขยะอย่างเปล่าประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรทัศน์ พัดลมต่าง ๆ หรือไม่เช่นนั้น พวกเฟอร์นิเจอร์ที่ชำรุด ทรุดโทรม ก็สามารถตกแต่งใหม่ และนำกลับมาใช้ได้อีกครั้งเหมือนกัน

          R4 : Recycle

          Recycle คือ การแปรรูปสิ่งของต่าง ๆ ให้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้อย่างสร้างสรรค์ โดยหลักการง่าย ๆ ให้เราเลือกใช้แต่ผลิตภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ และอะลูมิเนียม จากนั้นเวลาเก็บทิ้งก็คัดแยกออกต่างหาก แล้วนำไปขายหรือบริจาค เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป

          R5 : Reject

         Reject คือ การงดใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายยาก ทำลายยาก นำไปรีไซเคิลยาก หรือพวกผลิตภัณฑ์ใช้ได้แค่ครั้งเดียว เช่น โฟม แก้วพลาสติก แก้วกระดาษ เป็นต้น

   

          เห็นไหมคะว่าการแยกขยะในบ้านไม่ได้ยากอย่างที่คิด ฉะนั้นต่อไปนี้ลองเริ่มต้นง่าย ๆ ที่บ้านของทุกคนกันนะคะ ^^

 

ขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.nasuan.go.th/news/detail/41