ติดต่อเรา

คำแนะนำการจัดการหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วช่วงโควิด-19 ลดปัญหาขยะติดเชื้อ


        หน้ากากอนามัยใช้แล้ว ถือเป็นขยะติดเชื้อหรือขยะพิษที่ควรทิ้งในที่ทิ้งเฉพาะและมัดให้เรียบร้อยก่อนทิ้งทุกครั้ง เพื่อไม่ให้กลายเป็นขยะที่กระทบต่อสังคมและสุขภาพอนามัยของคนอื่นๆ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคำแนะนำการจัดการขยะดังกล่าวช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในแต่ละประเภท               

                จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยขยายวงกว้างมากขึ้น ส่งผลให้มีการใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นเช่นกันที่มีทั้งทิ้งถูกต้องตามหลักวิชาการป้องกันพนักงานเก็บขยะเสี่ยงลดการติดเชื้อโรค และที่ทิ้งโดยไม่สนใจว่าจะแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังใครบ้าง แม้ว่าภาครัฐและภาคเอกชนจะรณรงค์แล้วจัดวางถังขยะพิษเพื่อให้ไว้ทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วโดยเฉพาะก็ตาม หากกำจัดไม่ดีจะกลายเป็นแหล่งเชื้อโรคและแพร่เชื้อ จึงขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานและประชาชนอย่าลืมทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วให้ถูกที่ ถูกวิธี เพื่อนำไปกำจัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ลดปัญหาขยะ ป้องกันการแพร่โรคโควิด-19 สิ่งสำคัญขอให้ประชาชนทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่ที่สาธารณะ ขณะพูดคุย และล้างมือด้วยแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือเป็นประจำ 

                กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำข้อแนะนำเบื้องต้นการจัดการหน้ากากอนามัยใช้แล้วที่กลายเป็นขยะพิษหรือขยะติดเชื้อ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็น “บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย” ให้ถือว่าหน้ากากอนามัยใช้แล้วเป็นมูลฝอยติดเชื้อต้องจัดการตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 ด้วยการเก็บรวบรวมในภาชนะที่มีสีหรือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงมูลฝอยติดเชื้อและกำจัดทำลายอย่างถูกต้อง // “ประชาชนทั่วไป” ห้ามใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่ ก่อนทิ้งหน้ากากอนามัยให้ตัด ฉีก หรือทำลายก่อนเพื่อป้องกันการนำกลับมาใช้ใหม่ ให้แยกทิ้งหน้ากากอนามัยจากขยะประเภทอื่นๆ และห้ามเก็บกักหน้ากากอนามัยใช้แล้วไว้ในที่พักอาศัยเกิน 7 วัน // “ผู้แยกสังเกตอาการที่บ้าน (ประชาชน)” ให้แยกทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วใส่ถุงขยะ 2 ชั้นมัดปากถุงให้แน่น                

                ส่วน “สำนักงานหรือสถานประกอบการ” ต้องแยกทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วใส่ถุงขยะ 2 ชั้นราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาวมัดปากถุงให้แน่น // “กรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ต้องจัดให้มีจุดทิ้งและจุดรวบรวมเฉพาะสำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วให้ครอบคลุมทุกพื้นที่รับผิดชอบ และสุดท้าย “โรงพยาบาลและสถานที่กักกันโรค” ควรแยกทิ้งมูลฝอยติดเชื้อและหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วใส่ถุงสีแดง 2 ชั้นทึบแสงทนทานต่อสารเคมีและไม่ฉีกขาดง่าย จัดให้มีที่พักรวมมูลฝอยติดเชื้อไว้เป็นการเฉพาะ แล้วอบรมให้ความรู้ให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการรวบรวมและเคลื่อนย้ายมูลฝอยติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง    

                ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการกำจัดขยะหน้ากากอนามัยอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยพร้อมให้ความร่วมมือทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วในจุดที่จัดเตรียมไว้ให้เฉพาะแล้วมัดให้เรียบร้อยก่อนทิ้งทุกครั้ง เพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาขยะพิษที่ถูกทิ้งเกลื่อนตามพื้นถนนหรือตามสถานที่ต่างๆ    

                อยากให้ประชาชนทุกคนรับผิดชอบตนเองด้วยการทิ้งขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้วออกจากขยะประเภทอื่นๆแล้วทิ้งลงถังเฉพาะหน้ากากอนามัยที่ใช้เตรียมไว้ให้ ที่เป็นถังสีแดงมีเขียนระบุและสัญลักษณ์บ่งบอกชัดเจน เพราะนั่นเป็นขยะติดเชื้อประเภทหนึ่งที่ปะปนด้วยน้ำลาย น้ำมูก และสารคัดหลั่งต่างๆ 

credit : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210114102902197

ข้อมูลข่าวและที่มา

ผู้สื่อข่าว : ปิยาพรรณ ยังเทียน / สวท.

ผู้เรียบเรียง : กัลยา คงยั่งยืน

แหล่งที่มา : Radio-สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย