ติดต่อเรา

ขยะพลาสติกจากโควิด


ภาพจาก : กระทรวงสาธารณะสุข
แหล่งอ้างอิง : https://www.prachachat.net/csr-hr/news-693624

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปริมาณขยะพลาสติกกลับเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทั้งนั้น จากรายงานของสถาบันพลาสติกที่เปิดเผยภายในงานเสวนาออนไลน์เรื่อง “ขยะพลาสติก : การจัดการและโอกาส Post COVID-19” เมื่อไม่นานผ่านมา

ซึ่งจัดโดยโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติก และขยะอย่างยั่งยืน (Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management : (PPP Plastics) ระบุว่าแม้ธุรกิจดีลิเวอรี่จะเติบโตสูงขึ้นถึง 78-84% แต่กลับส่งผลทำให้ธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกเติบโตขึ้นไปด้วย จากปกติแต่ละปีเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5% แต่ปี 2563 กลับเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 9%

ขยะพลาสติกจากโควิด

ผลเช่นนี้ จึงทำให้เกิดหลายมุมมองความคิดภายในงานเสวนา โดยเฉพาะ “วีระ ขวัญเลิศจิตต์” ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติกที่กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าการใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอลทำให้พลาสติกมีความจำเป็นสำหรับปัจจัยพื้นฐานเพื่อความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นถุงมือ, ขวดใส่เจลล้างมือ, บรรจุภัณฑ์อาหาร อีกทั้งยังถูกนำมาผลิตเป็นอุปกรณ์การแพทย์สำหรับป้องกันโรคมากขึ้น เช่น ชุด PPE, หน้ากาก N95, face shield, PVC boot และเข็มฉีดยา

“กรณีของเข็มฉีดยาที่วัสดุทำมาจากพลาสติก ถ้าไทยวางเป้าหมายฉีดวัคซีนให้กับประชากร 50 ล้านคน คนละ 2 โดส เท่ากับว่าต้องมีเข็มฉีดยา 100 ล้านเข็ม แน่นอนว่าปริมาณขยะพลาสติกจะเพิ่มขึ้นด้วย”

ใช้ประโยชน์จากขยะ 100%

ขณะที่ “อรรถพล เจริญชันษา” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวเสริมว่า โดยเฉลี่ยแต่ละปีเรามีขยะพลาสติกอยู่ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี และเมื่อต้นปี 2563 มีการรณรงค์ลดใช้พลาสติก ประชาชนก็ได้ให้ความสนใจ และหันมาใช้ถุงผ้ากันมากขึ้น

“แต่ทำได้ไม่นานก็เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้พลาสติกลดลงไม่ถึง 10% ทั้งยังพบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นอีก 40% โดยเฉลี่ยประมาณ 134 กรัม/คน/วัน (ข้อมูลมกราคม-ธันวาคม 2563) รวมถึงการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงเมษายน 2564 จนถึงตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 45% เฉลี่ยประมาณ 139 กรัม/คน/วัน และคาดว่าอาจจะมากกว่าเดิม เนื่องจากความจำเป็นในการใช้พลาสติก”

“อรรถพล” กล่าวต่อว่า ภาครัฐวางโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกในปี 2561-2573 โดยเป้าหมายแรกคือเลิกใช้ขยะพลาสติก 4 ชนิดในปี 2565 คือถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง, กล่องโฟม, แก้วพลาสติก, หลอดพลาสติก โดยสิ่งที่ทำได้คือสามารถลดกล่องโฟมได้มากถึง 70-80%

ส่วนเป้าหมายที่ 2 ภายในปี 2565 ต้องนำขยะพลาสติก 7 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติก, ถาดหรือกล่องอาหาร, ฝาขวด, ช้อนส้อมมีดพลาสติก, บรรจุภัณฑ์ฟิล์ม, ขวดพลาสติก และแก้วพลาสติกแบบหนา กลับมาใช้ใหม่ให้ได้ 50% หรือประมาณเกือบ 7 แสนตัน และคาดว่าจะนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% ในปี 2573

“ทั้งนี้สถานการณ์ปัจจุบันนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่าจะสามารถดำเนินได้ตามเป้าหมายหรือไม่ เนื่องจากจะต้องมีการวางแผนเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการหลังโควิด-19 คลี่คลาย ที่สำคัญ เรายังมีเป้าหมายด้วยว่าในปี 2565 จะเริ่มดำเนินการลดการนำเข้าเศษพลาสติกประมาณ 20% หรือประมาณ 2 แสนตัน และคาดว่าจะห้ามนำเข้าเศษพลาสติก 100% ในวันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป ซึ่งจะต้องทำการหารือกับผู้ประกอบการที่นำเข้าเศษพลาสติกด้วย”

ระวังขยะหลุดรอด 700 ล้านตัน

สำหรับ “ดร.วิจารย์ สิมาฉายา” ประธาน PPP Plastics กล่าวว่าตอนนี้มีการคาดการณ์ว่าภายในอีก 20 ปีข้างหน้าทั่วโลกจะมีขยะหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมมากถึง 700 ล้านตัน โดยวิธีการแก้ไขปัญหาดีที่สุด คือการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมบูรณาการความร่วมมือกันในการลดการใช้งานพลาสติกที่ไม่จําเป็น

ที่สำคัญ ประชาชนจะต้องมีการคัดแยกขยะ และทำให้พลาสติกที่ใช้แล้วสะอาดเพื่อนำไปสู่หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ตามวาระแห่งชาติต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ด้วยการนำมาปรับใช้ในการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นระบบและครบวงจร

เนสท์เล่จี้ภาครัฐมุ่งสู่ CE

ในส่วนชภาคเอกชนต่อการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน “นภดล ศิวะบุตร” ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า นโยบายการผลิตของเนสท์เล่ทั่วโลก คือบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดจะต้องรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2568 ซึ่งในส่วนของเนสท์เล่ ประเทศไทยดำเนินการไปแล้วเกือบ 90% และคาดว่าจะได้ 100% ภายในสิ้นปี 2565 นอกจากนี้ ยังมีนโยบายลดใช้พลาสติกใหม่อย่างน้อย 1 ใน 3 ภายในปี 2568

“ทั้งนั้นเพื่อส่งเสริมการใช้รีไซเคิลพลาสติกให้เป็นบรรจุภัณฑ์ต่อไปในอนาคต รวมถึงการสรรหาวัสดุทางเลือกที่ง่ายต่อการรีไซเคิล เช่น บรรจุภัณฑ์ไอศกรีมเนสท์เล่ที่ใช้เยื่อกระดาษบริสุทธิ์ 100% ตัวนี้ผ่านการวิจัยมาพอสมควร เพราะกระดาษไม่ชอบความชื้น เย็น จึงต้องทำให้แข็งแรง ไม่เปื่อยยุ่ยง่ายจนเกินไปและไม่ส่งผลต่อรสชาติและกลิ่น หรือแม้แต่ซองกาแฟกระดาษ นอกจากนี้ ในขวดน้ำดื่มพลาสติกยังลดวัสดุในการผลิตให้บางลง เช่น จากน้ำหนัก 13 กรัม ให้เหลือ 10 กรัม เป็นต้น”

“ส่วนเป้าหมายต่อไป เราจะพยายามทำให้ไปถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน และทำอย่างไรให้วัสดุแต่ละชนิดที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ สามารถนำมารีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ได้ ซึ่งเนสท์เล่อยู่วงการอาหารก็จะมีความท้าทายเพิ่มขึ้น เพราะกฎหมายไทยยังไม่อนุญาตให้นำบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสอาหาร ฉะนั้น จึงต้องมีกฎระเบียบดูแลความปลอดภัยในเรื่องนี้”

โดยสรุปสิ่งที่อยากเสนอต่อภาครัฐต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนมีอยู่ 3 เรื่องคือ

1) ทำอย่างไรถึงจะมีการคัดแยกขยะจากที่บ้าน หลายประเทศมีกฎหมายบังคับ หรือใช้วิธีการชักชวน ถ้าเป็นไทยก็ต้องมีการผสมผสานตามบริบทพื้นที่ มีกรอบเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนช่วยกันแยกขยะให้ได้ก่อน

2) ร่วมพัฒนาระบบ extended producer responsibility (EPR) ที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะเป็นเครื่องมือในการจัดการขยะ

และ 3) เรื่องกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับพลาสติกรีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยเฉพาะประเด็นนี้ยังต้องมีการหารือกับหลายภาคส่วน

 

“ดาว” ตั้งเป้าปี’73 สู่ความยั่งยืน

“ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย” ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศคือการออกมาตรการทางกฎหมาย และมาตรการทางสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในการจัดการขยะพลาสติกตลอดทั้งระบบจากภาครัฐ

เริ่มตั้งแต่การจัดการจากต้นทาง เช่น การสร้างแนวปฏิบัติ ecodesign การจัดถังขยะให้ประชาชนแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ด้านระบบจัดเก็บและขนส่ง เช่น ส่งเสริมจุดรับเศษพลาสติกเป้าหมาย สร้างมาตรฐานร้านรับซื้อของเก่า”

และสุดท้ายคือการสร้างตลาดให้กับพลาสติกรีไซเคิล เช่น การส่งเสริม green procurement ส่งเสริมผู้ประกอบการที่ใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล สร้างมาตรฐานเม็ดพลาสติกรีไซเคิล พัฒนาผู้ประกอบการทั้ง mechanical recycle และ chemical recycle

รวมถึงสร้างอุตสาหกรรมรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน สำหรับภาคธุรกิจ เรามีเทคโนโลยีพร้อมสำหรับการนำพลาสติกมาใช้ประโยชน์ หากภาครัฐส่งเสริมมาตรการเหล่านี้แล้ว ผมเชื่อว่าเราจะผลักดันให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติกได้อย่างสมบูรณ์

ปัจจุบันดาวมีการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนชัดเจนคือ

1) ภายในปี 2573 จะลดการปล่อยคาร์บอนลง 5 ล้านตันต่อปี ทั้งยังตั้งใจเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

2) ภายในปี 2573 จะหยุุดขยะพลาสติก โดยการทำให้ขยะพลาสติกจำนวน 1 ล้านตันถูกเก็บกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลผ่านการดำเนินงานของดาว รวมถึงความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ

3) close the loop ในปี 2573 ผลิตภัณฑ์ของดาวที่เป็นแพ็กเกจจิ้งจะสามารถรีไซเคิลได้ 100%”

“จากเป้าหมายดังกล่าว เรามีการดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น พัฒนานวัตกรรมพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพเทียบเท่ากับเม็ดพลาสติกใหม่ ออกแบบเพื่อผลิตเป็นฟิล์มยืดหดเพื่อแพ็กสินค้า มีส่วนผสมของพลาสติกที่ผ่านการใช้งานจากผู้บริโภคหรือ PCR (post-consumer resin) รวมถึงพัฒนาโซลูชั่นใหม่เพื่อการผลิตแพ็กเกจจิ้งหลายชั้นด้วยพลาสติกชนิดเดียว (multilayer, monomaterial) คงคุณสมบัติเทียบเท่ากับการใช้วัสดุหลายชนิดแต่สามารถรีไซเคิลได้”

“ฉัตรชัย” กล่าวต่อว่าแม้แต่การดำเนินโครงการต่าง ๆ อย่างการร่วมมือกับลูกค้า ด้วยการพัฒนาถุงข้าวรักษ์โลกจนทำให้ถุงข้าวบางลงจากเดิม 110 ไมครอน เหลือ 90 ไมครอน ไม่เว้นแม้แต่การดำเนินโครงการถนนพลาสติกรีไซเคิลที่ทำมาแล้วหลายประเทศ รวมถึงไทย เพราะดาวกับเอสซีจีรวมถึงพันธมิตรมีการทำถนนแอสฟัลต์คอนกรีตต้นแบบที่มีพลาสติกเหลือใช้เป็นส่วนผสม โดยมีความยาวถนน 7.7 กิโลเมตร ทั้งยังนำพลาสติกเหลือใช้หมุนเวียนกลับมาสร้างคุณค่าได้รวม 23 ตัน

“นอกจากนี้ ดาวยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง และสมาชิกของ PPP Plastics ด้วยการสนับสนุนโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนของภาครัฐ ตอนนี้ดาวสนับสนุนการแยกขยะในชุมชนหลายแห่ง พร้อมช่วยรณรงค์ในการสร้างพฤติกรรมคัดแยกขยะในครัวเรือน จัดธนาคารขยะให้คนในชุมชนนำขยะพลาสติกมาแลกของรางวัล เป็นต้น”