ติดต่อเรา

การจัดการขยะติดเชื้อ ความท้าทายในยุคโควิด–19


 

การจัดการขยะติดเชื้อ ความท้าทายในยุคโควิด–19

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จัดเสวนา Can we talk? EP.5 หัวข้อ Infectious Waste : Challenges in COVID-19 Pandemic ขยะติดเชื้อ : ความท้าทายในยุคโควิด – 19

วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ.2564

 

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จัดเสวนา Can we talk? EP.5 หัวข้อ Infectious Waste : Challenges in COVID-19 Pandemic  ขยะติดเชื้อ : ความท้าทายในยุคโควิด – 19 ในประเด็นของการจัดการขยะติดเชื้อในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ผ่านทางออนไลน์ โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.ณัฐกรณ์ ชูช่วย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารและวิชาการ ศูนย์ลำปาง อาจารย์ ดร.ประดับดวง เกียรติศักดิ์ศิริ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และคุณศุภวิทย์ อมรยุทธ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ เป็นวิทยากรบรรยาย

     อาจารย์ ดร.ประดับดวง เกียรติศักดิ์ศิริ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบันทำให้ปริมาณของขยะติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจากแหล่งกำเนิดที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและความช่วยเหลือของภาคประชาชน เช่น โรงพยาบาลสนาม สถานบริการสาธารณสุขผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) ศูนย์ฉีดวัคซีน (Vaccine Pop-Up) การแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) โดยขยะติดเชื้อที่พบมากในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น หน้ากากอนามัย ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ชุดป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) และแผ่นป้องกันใบหน้า (Face Shield)  นอกจากนี้ในกรณีของสถานที่กักตัว หากผู้ป่วยได้สั่งอาหารเดลิเวอรีมารับประทาน กล่องบรรจุอาหารและภาชนะที่ใช้แล้ว รวมทั้งกระดาษทิชชู่ ก็มีแนวโน้มได้รับการปนเปื้อนเชื้อและกลายเป็นมูลฝอยติดเชื้อด้วย ซึ่งขยะเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

     คุณศุภวิทย์ อมรยุทธ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า การจัดการขยะติดเชื้อของโรงพยาบาล ในกรณีตัวอย่างของโรงพยาบาลลำปาง ใช้วิธีการกำจัดขยะติดเชื้อโดยใช้วิธีการทำลายเชื้อด้วยไอน้ำ (Autoclaving) ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดแล้ว ต้องมีการตรวจสอบเกณฑ์มาตรฐานทางชีวภาพโดยวิธีการตรวจสอบเชื้อ (Spore Test) ส่วนการกำจัดขยะติดเชื้อด้วยวิธีการเผาในเตาเผา ต้องควบคุมอุณหภูมิห้องเผาให้ได้ตามที่กฎหมายกำหนดด้วย และในส่วนของการจัดการขยะติดเชื้อของโรงพยาบาลสนามและสถานที่พักคอย โดยหลักการแล้วไม่แตกต่างจากการจัดการขยะติดเชื้อของสถานพยาบาล โดยเน้นเรื่องความสะอาดและปลอดภัย วิธีการเก็บรวบรวม ขั้นตอนการขนย้ายขยะติดเชื้อ ผู้ปฏิบัติงาน วัสดุอุปกรณ์ จนถึงวิธีการกำจัด ต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ส่วนกลุ่มรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) ก็มีวิธีแนะนำการกำจัดขยะติดเชื้อสำหรับทำเองได้ที่บ้าน การคัดแยกให้บรรจุใส่ในถุงขยะติดเชื้อ (ถุงแดง) มัดปากถุงแล้วพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อใส่ถุงอีกชั้น เก็บรวบรวมไว้ในจุดที่ปลอดภัย และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามารับขยะติดเชื้อ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทเอกชน โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อนำไปกำจัดต่อไป หากในพื้นที่ไม่มีบริการรวบรวมขยะติดเชื้อไปกำจัด ให้บรรจุในถุงดำ ราดน้ำยาฆ่าเชื้อ พร้อมบรรจุลงถุงอีกชั้น พร้อมเขียนระบุให้ชัดเจนว่าในถุงดังกล่าวมีขยะประเภทใดอยู่

 

     อาจารย์ ดร.ณัฐกรณ์ ชูช่วย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารและวิชาการ ศูนย์ลำปาง กล่าวปิดท้ายว่า สถานการณ์ขยะติดเชื้อในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตขยะติดเชื้อได้ด้วยกันทั้งสิ้น อย่างน้อยก็คือหน้ากากอนามัยที่สวมอยู่เป็นประจำ ก็ถือว่าเป็นขยะติดเชื้อ เพราะอาจมีสารคัดหลั่งติดออกไปด้วย ในด้านการจัดการในเชิงนโยบายพบว่า มีปัญหาหลายส่วนตามสื่อต่าง ๆ หรือรายงานวิชาการที่กล่าวถึง จึงเป็นประเด็นที่สำคัญต่อการจัดการแก้ไขปัญหาขยะติดเชื้อ และควรนำมาแก้ไขโดยเร่งด่วน เช่นกลุ่มผู้ผลักดันนโยบาย ควรเข้ามาสำรวจสาเหตุของปัญหาอย่างจริงจัง และเร่งปรับปรุงนโยบายให้สอดคล้องกับความเป็นจริง สร้างกลไกในการจัดการปัญหา รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการการจัดการเชิงพื้นที่ บุคลากร เจ้าหน้าที่ และประชาชน ต้องรับรู้ถึงวิกฤติปัญหาขยะติดเชื้อล้นระบบและร่วมมือกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดปริมาณมูลขยะติดเชื้อ รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานกำจัดขยะซึ่งกันและกันไม่ให้เกินสภาวะวิกฤติด้วย

Credit : https://tu.ac.th/thammasat-080964-infectious-waste-challenges-in-covid19